หูตึงในเด็ก

คลินิก เอียร์โทน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

โดย น.พ.มานัต อุทุมพฤษ์พร

ปัญหาการได้ยินในเด็กส่งผลต่อพัฒนาการ

หู อวัยวะที่ทำหน้าที่รับฟังทุกเรื่องราว จนหลายคนละเลยความสำคัญไป แต่หูยิ่งเล็กก็ยิ่งต้องการการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ โดยเฉพาะหูเล็กๆ ของน้องหนู

หูเป็นอวัยวะสำคัญของการได้ยิน เพราะการได้ยินเกิดจากคลื่นเสียงเดินทางกระทบแก้วหูผ่านกระดูกหูขึ้นมาที่ ประสาทหูมายังสมอง สำหรับในเด็กการได้ยินจะต่อยอดด้วยการเลียนแบบคำพูดและพูดได้ตามพัฒนาการ หากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการได้ยินตั้งแต่เด็ก พัฒนาการด้านการพูดก็มีปัญหาตามมา

ความผิดปรกติของหูแต่กำเนิดเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อย เช่น ใบหูผิดปกติ ไม่มีรูหู ไม่มีใบหู ซึ่งมักจะมีแก้วหู กระดูกหู และโคเคลียผิดปกติไปด้วย ทำให้การนำเสียงและรับเสียงด้อยลง ถ้าหากผิดปกติเพียงหูข้างเดียวตั้งแต่เกิด เด็กยังสามารถพัฒนาภาษาพูดได้เหมือนคนปรกติ แต่ถ้าหากเป็นทั้ง 2 ข้าง การแก้ไขต้องทำก่อนอายุหนึ่งขวบ

“เมื่อเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับหู เด็กจะได้ยินน้อยกว่าปกติหรือถึงขั้นไม่ได้ยินเลย เกิดการเรียนรู้ช้า พูดช้า พูดไม่ชัด พูดผิดปกติ ส่งผลให้การเรียนด้อยลง เนื่องจากได้ยินครูพูดอธิบายไม่ชัด ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำสำหรับคุณครูว่าหากเด็กมีการเรียนรู้หรือพัฒนาการช้าต้องสังเกตว่าเด็กได้ยินหรือมองเห็นดีหรือไม่ รวมถึงมีการเลียนแบบตามพัฒนาการปกติหรือไม่ เป็นต้น”

ทำไมการที่เราวินิจฉัยภาวะปัญหาการได้ยินในเด็กจึงควรรีบทำอย่างทันท่วงที

ก็เพราะว่าในช่วงเด็กก่อนอายุ 3-5 ปีแรกของชีวิตนั้น เป็นช่วงที่สมองจะพัฒนาได้อย่างเต็มที่มากที่สุดในทุกๆด้าน รวมทั้งสมองที่รับรู้ด้านการได้ยินและพัฒนาการณ์ทางภาษาด้วย การที่สมองส่วนนี้ขาดการได้รับเสียงเข้ามากระตุ้นตั้งแต่แรกเกิด ทำให้สมองส่วนนี้ไม่ได้รับการพัฒนา ในกรณีที่เด็กๆเสียการได้ยินมากๆนั้น แม้มาพบในภายหลัง เมื่อโตแล้วไม่ยอมพูด การช่วยเหลือกระตุ้นการได้ยินที่ทำในตอนโต ก็ไม่สามารถทำให้เด็กกลับมาพูดหรือมีพัฒนาการณ์ทางภาษาที่เป็นปรกติได้แล้ว เนื่องจากเราเลยจากช่วงเวลาทองที่สมองในส่วนนี้จะพัฒนาได้เต็มที่ไป แต่อย่างไรก็ต้องพยายามช่วยเหลือเด็กๆอย่างเต็มที่ แม้ผลสำเร็จอาจไม่ดีเท่าช่วยกระตุ้นตั้งแต่เนิ่นๆ

ในกรณีที่การได้ยินเสียไปไม่มาก เด็กพอจะพูดหรือมีพัฒนาทางภาษาได้บ้าง การช่วยกระตุ้นการได้ยินแม้ทำในตอนโต ก็ช่วยแก้ปัญหาด้านพฤติกรรม และช่วยพัฒนาการเรียนให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้

ถ้าท่านสงสัยว่าบุตรหลานมีปัญหาการได้ยิน อย่านิ่งนอนใจ เพราะการรอที่นานขึ้น จะยิ่งทำให้ปัญหาลุกลาม ควรรีบนำบุตรหลานเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหูและการได้ยิน เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัย และรักษาช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

สาเหตุของประสาทหูเสื่อมเกิดจาก

  1. โรคที่แม่เป็นขณะตั้งครรภ์ เช่น โรคหัด โรคซิฟิลิส หรือได้รับสารบางอย่างที่เป็นพิษ เช่น การฉีดยา เสตร็บโตมัยซิน และการฉายรังสี ก็จะทำลายประสาทหูของลูกได้
  2. โรคคางทูมในเด็กวัย 2-3 ขวบ เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งอาจจะทำให้ประสาทหูเสื่อม แต่ถ้าเป็นโรคเชื้อราที่เกิดกับผิวหนังหรือรูหูจะทำให้คัน แต่ไม่ทำให้ประสาทหูเสื่อม เมื่อเชื้อราลอกออกก็หายไป
  3. โรคติดเชื้อที่มาจากทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เป็นหวัดเจ็บคอแล้วลุกลามขึ้นหู จนเกิดการอักเสบในหูชั้นกลางเข้าไปหูชั้นในหรือดันให้แก้วหูทะลุ เกิดเป็นหูน้ำหนวก ถ้าเกิดอักเสบบ่อยๆ จะทำให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น
  4. แก้วหูทะลุจากการเล่นตามวัย เช่น ความอยากรู้อยากลองของเจ้าหนูเอง จึงนำวัตถุชนิดต่างๆ ยัดลงหู หรือถูกเพื่อนตบ ถูกกระแทก จนแก้วหูทะลุได้ เมื่อแก้วหูทะลุโอกาสจะเกิดหูน้ำหนวกจะเกิดขึ้นได้ง่าย
  5. การอยู่ในภาวะที่หูต้องพบเจอกับเสียงดังมากๆ เนื่องจากอวัยวะทุกส่วนของเด็กจะทนทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ เมื่อเด็กได้ยินเสียงดังอยู่ตลอดเวลา เช่น เสียงดังจากรถบนท้องถนน เสียงขึ้นลงของเครื่องบิน จนถึงเสียงจากโรงงานอุตสาหกรรม แม้แต่เด็กที่พูดคุยโทรศัพท์เป็นเวลานานๆ เช่น ครั้งละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เพราะหูถูกกระตุ้นอยู่เป็นระยะเวลานาน หรือเสียงประทัด เสียงระเบิด ก็จะทำให้ประสาทหูเสื่อมได้ง่าย ระดับเสียงที่เป็นอันตรายและควรหลีกเลี่ยง สำหรับสุขภาพหูของเด็กจะต้องไม่เกิน 90 เดซิเบล เสียงเครื่องบิน ขึ้นลงในระดับใกล้ประมาณ 120 เดซิเบล เสียงแตรรถ 120 เดซิเบล เสียงรถบนถนนอยู่ที่ 100 เดซิเบล เป็นต้น อย่างไรก็ตามการวัดความดังของเสียงก็ขึ้นอยู่กับระยะห่างจากจุดกำเนิดเสียง สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เสียงจะเดินทางได้ดีกว่ากัน เป็นต้น
  6. โรคที่แพทย์ทำให้เกิด โดยปกติเด็กวัย 3-9 ปี มีโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้ง่าย ยาที่ใช้ในการรักษาบางชนิดอาจส่งผลต่อประสาทหูเสื่อมได้ โดยเฉพาะยาฉีด เช่น เสตร็บโตมัยซิน ยาฆ่าเชื้อที่มีฤทธิ์รุนแรง ดังนั้นในกรณีที่แพทย์จะฉีดยาให้เด็กควรไต่ถามถึงความจำเป็น ซึ่งโดยปกติในเด็กวัยนี้ถ้าไม่ใช่โรคติดเชื้อ แรงๆ แพทย์จะให้ยากินในการรักษาอยู่แล้ว ยกเว้นการฉีดวัคซีน
  7. โรคภูมิแพ้โดยกำเนิด การที่พ่อแม่ถ่ายทอดโรคภูมิแพ้มาสู่ลูก หรือลูกเป็นโรคภูมิแพ้ทีหลังเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่มีแต่ฝุ่นละออง แพ้ขนสัตว์ ทำให้มีอาการจาม น้ำมูกไหล หายใจลำบาก บางคนหายใจไม่พอ ถ้าแพ้มากๆ ก็เป็นหอบขึ้นมา อาการเหล่านี้อาจทำให้เกิดการอักเสบลามขึ้นไปถึงช่องหูได้

อาการอย่างนี้…ต้องระวัง

อาการบ่งบอกถึงหูมีปัญหา
  • เจ้าหนูเปิดโทรทัศน์เสียงดังขึ้น
  • พูดคุยกันในระดับเสียงปกติไม่ค่อยได้ยิน
  • หากเกิดอาการอักเสบจะมีกลิ่นเหม็นหรือมีน้ำหนองไหลออกจากหูหรือจมูก
  • หากเพียงแตะที่ใบหูเพียงนิดเดียวแต่เจ้าหนูเกิดอาการเจ็บผิดปกติ แสดงว่าช่องหูอาจมีหนองหรืออักเสบ
ขี้หูในเด็ก

ตามปกติหูชั้นนอกจะผลิตขี้หูเพื่อป้องกันแมลง มด ตัวเห็บ ตัวหมัด หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู บางคนอาจจะมีขี้หูเปียก บางคนอาจจะมีขี้หูแห้ง เมื่อมีปริมาณมากไปก็จะหลุดเองโดยธรรมชาติ ปกติจึงไม่จำเป็นต้องแคะขี้หูออกมา นอกจากมีความจำเป็น เช่น เมื่อเด็กมีไข้ เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบน ไซนัสอ้กเสบ แพทย์จำเป็นต้องดูแก้วหูว่ามีการอักเสบของหูชั้นกลางหรือไม่ เด็กขึ้นเครื่องบินแล้วร้องปวดหู เด็กจะฝึกว่ายน้ำ หรือเด็กร้องปวดหูโดยไม่ทราบสาเหตุ

ในกรณีที่ขี้หูแข็งมาก แพทย์จำเป็นต้องให้ยาหยอดละลายขี้หูสองสามวันเพื่อให้ขี้หูนิ่ม จะได้สะดวกในการแคะหรือดูดออก

ข้อสังเกตการพัฒนาการได้รับรู้เสียงและภาษาพูดของเด็ก

เด็กจะพูดได้ต้องได้ยินเสียงก่อน แล้วพูดเลียนแบบเสียงนั้น ถ้าหากเด็กไม่ได้ยินหรือได้ยินน้อยจะทำให้เด็กพูดได้ช้า หรือไม่พูดเลย เราจะทราบว่าเด็กได้ยินหรือไม่โดยการสังเกตปฏิกิริยาโต้ตอบและการเลียนแบบคำพูดของเด็ก หลักเกณฑ์คร่าวๆ ที่เด็กควรทำได้ในช่วงอายุต่างๆ ดังนี้

  • เด็ก 1 เดือน : ควรจะเริ่มตอบสนองด้วยเสียง เช่น เมื่อได้ยินเสียงดังเด็กจะสะดุ้ง ขยับตัว หรือร้องไห้
  • เด็ก 4 เดือน : จะหันหาแหล่งที่มาของเสียง และทำเสียงพยางค์ที่ไม่มีความหมายพยางค์เดียว
  • เด็ก 8 เดือน : จะเข้าใจคำว่า “อย่า” และรู้จักชื่อตัวเอง
  • เด็ก 9 เดือน : เข้าใจคำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ เช่น “เอา” “ไม่เอา” พูดเป็นคำได้ เช่น พ่อ แม่ แมว หมา
  • เด็ก 18 เดือน : เข้าใจคำสั่งและคำห้ามง่ายๆ เช่น นั่งลง พูดเป็นประโยคสั้นๆ ยาวประมาณ 1.5 คำ
  • 2 – 2 ขวบครึ่ง : พูดเป็นประโยคยาวได้ 2-3 คำ เข้าใจประโยคได้ทั้งประโยค
  • 2 ขวบครึ่ง – 3 ขวบ : เข้าใจคำศัพท์ได้ประมาณ 500 คำ พูดเป็นประโยคได้ 3-4 คำ
  • 5 ขวบ : พูดประโยคยาวๆ ได้ นับเลขได้

ถ้าเด็กอายุหนึ่งขวบแต่ยังไม่เรียกพ่อ แม่ หรือขวบครึ่งยังไม่พูดคำพยางค์เดียว หรืออายุ 2 ขวบยังพูดคำ 2 พยางค์ไม่ได้ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการทดสอบว่าระบบการรับเสียงปรกติหรือไม่

ข้อแนะนำบางประการสำหรับผู้ที่วางแผนจะมีลูก
  1. ควรวางแผนครอบครัวก่อนแต่งงาน ควรได้รับการตรวจหมู่เลือดและซิฟิลิสก่อนแต่ง ควรหลีกเลี่ยงการแต่งงานในหมู่เครือญาติหรือระหว่างผู้ที่มีใบหูและรูหูผิดปรกติ มีประวัติหูตึง หูหนวก (ตั้งแต่กำเนิดหรือเมื่ออายุยังน้อย) และเป็นใบ้
  2. ในระหว่างการตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์กับสูติแพทย์ และหลีกเลี่ยงการถ่ายภาพรังสีหรือใช้ยาที่อาจเป็นอันตรายกับประสาทหู และควรแจ้งให้สูติแพทย์ทราบทุกครั้งที่มีการติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีผื่นที่ผิวหนังร่วมด้วย การติดเชี้อโรคเฉพาะเชื้อไวรัส เช่น หัดเยอรมันในช่วงที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ อาจทำให้ทารกที่คลอดมีความพิการของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งหูด้วย
  3. พ่อแม่ที่มีลูกหูตึงหรือหูหนวกแต่กำเนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะมีลูกคนต่อไป

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดขณะท่านชมเว็บไซต์ เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเรา

The cookie settings on this website are set to "allow cookies" to give you the best browsing experience possible. If you continue to use this website without changing your cookie settings or you click "Accept" below then you are consenting to this.

Close