เสียงในหู
คลินิก เอียร์โทน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
โดย นพ. มานัต อุทุมพฤกษ์พร
การได้ยินเสียงเหมือนเสียงจักจั่นหรือเสียงลมในหูโดยไม่มีเสียงนั้นจริงๆ จากภายนอก เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป บางคนอาจได้ยินเสียงเหมือนอยู่ในศีรษะหรือบอกตำแหน่งได้ไม่ชัด จากการสำรวจทั่วโลกพบว่ามีผู้ที่ได้ยินเสียงในหูประมาณ 15% ของประชากรในแต่ละประเทศ ทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า ทินไนตัส (Tinnitus)
เมื่อเสียงกระทบหู คลื่นเสียงจะเคลื่อนที่จากหูชั้นนอกเข้าสู่หูชั้นใน ส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินหรือโคเคลีย (Cochlea) หูชั้นในจะเปลี่ยนคลื่นเสียงเป็นคลื่นไฟฟ้า และส่งไปตามระบบประสาทการรับเสียงระดับต่างๆ จนถึงระดับสูงสุดของสมอง สมองระดับสูงสุดจะสั่งให้เกิดการตอบสนองต่อเสียง โดยแสดงออกทางระบบประสาทอัตโนมัติ ทางร่างกายและทางอารมณ์ เกิดจินตนาการต่างๆ ขึ้น เช่น ได้ยินเสียงสุนัขเห่าจะจินตนาการเห็นภาพสุนัขโดยที่ไม่เห็นตัว เด็กที่เคยถูกสุนัขกัดจะเกิดความกลัวขึ้นมาทันที
รูปแบบการตอบสนองต่างๆ นี้ ถูกเก็บสะสมไว้ตั้งแต่แรกคลอดจนโต ทั้งเวลาตื่นและหลับ ปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงใหม่จะถูกเก็บสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นระบบในสมองไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับเสียงที่ไม่มีความสำคัญหรือไม่มีอันตรายต่อการดำรงชีวิตจะถูกละเลยไว้แค่สมองระดับล่างคือในระดับจิตใต้สำนึก ไม่เกิดปฏิกิริยาทางกายและอารมณ์ เสียงที่มีความสำคัญหรือคุกคามต่อการดำรงชีวิตจะถูกขยายให้เด่นขึ้นและเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ เช่น เราจะหันไปหาเสียงที่เรียกชื่อเราทันที แม้เสียงนั้นจะเบาและอยู่ในที่ที่มีเสียงจอแจ เมื่อได้ยินเสียงปืนหรือเสียงระเบิด หัวใจจะเต้นเร็ว ตื่นตัว และเอามืออุดหู หรือเมื่อเราอยู่ในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ เช่น ชายทะเล ในป่า เสียงลมพัด เสียงคลื่น เสียงนกร้อง จะทำให้เรามีอารมณ์ผ่อนคลาย จิตใจสงบ
เสียงในหูเกิดขึ้นได้อย่างไร
จนถึงปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของอาการเสียงในหูได้ แต่จากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Heller และ Herqman ในปี ค.ศ. 1953 พบว่า ในคนปกติที่ไม่เคยได้ยินเสียงในหู เมื่อเข้าไปอยู่ในห้องเงียบมากๆ ที่ไม่มีเสียงรบกวน จะได้ยินเสียงในหูแบบเดียวกับผู้ที่มีเสียงในหู จึงเชื่อว่าโดยปกติจะมีเสียงที่เกิดจากการทำงานของระบบประสาทการรับเสียงในสมอง แต่สมองได้เรียนรู้ว่าเสียงนี้ไม่มีความสำคัญ มันจึงถูกละเลยไว้ใต้
จิตสำนึก แต่ในผู้ที่มีเสียงในหูอาจจะเกิดความผิดพลาดในการรับรู้เสียงนี้ชั่วขณะหนึ่ง เช่น ประสาทหูถูกทำลายหรืออยู่ในภาวะเครียดกังวลมาก ทำให้สมองจดจำเสียงการทำงานของประสาทนี้เป็นเสียงคุกคามและให้ความสำคัญกับเสียงนี้ สมองจึงสั่งการให้ร่างกายตื่นตัวเตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา นอนไม่หลับ กังวล และเครียด ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัย เชื่อกันว่าในผู้ที่มีหูไวผิดปกติก็เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน ระบบประสาทการรับเสียง ระบบประสาทอัตโนมัติ และระบบประสาทควบคุมอารมณ์ เกิดการตอบสนองเสมือนหนึ่งว่าร่างกายอยู่ในสภาวะถูกคุกคาม จึงตื่นตัวและไวเกินปกติอยู่ตลอดเวลา แม้มีเสียงกระตุ้นเพียงเบาๆ ก็จะถูกขยายให้ดังเกินเหตุ เกิดปฏิกิริยาในทางลบ เช่น ไม่ชอบเสียงที่เปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยหรือกลัวเสียง
ประเภทของเสียงในหู
เสียงในหูแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1. เสียงในหูประเภทที่สามารถตรวจพบได้ เช่น ผู้ที่มีหลอดเลือดบริเวณคอ ฐานกะโหลกศีรษะแคบลงผิดปกติ เมื่อเลือดไหลผ่านหลอดเลือดที่แคบลงจะเกิดเสียงดังขึ้น ถ้าใช้เครื่องมือดักฟังก็จะได้ยินเสียงเหมือนที่ผู้ป่วยได้ยินเอง หรือบางท่านอาจได้ยินเสียงการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณเพดานปาก กล้ามเนื้อในหูชั้นกลาง หรือการเปิด-ปิดของท่อปรับความดันอากาศในหูชั้นกลาง
2. เสียงในหูประเภทที่ไม่สามารถตรวจพบได้ ได้ยินเฉพาะผู้ที่มีอาการ แต่ผู้อื่นไม่ได้ยิน เสียงในหูประเภทนี้สามารถแบ่งตามสาเหตุที่เกิดได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
- เสียงในหูที่มีสาเหตุ เสียงในหูอาจเกิดในผู้ที่ป่วยเป็นโรคอื่น เช่น เมื่อถูกตบที่หูอาจจะมีอาการหูอื้อ ได้ยินน้อยลง ขณะเดียวกันจะได้ยินเสียงในหูดังวี้ดๆ นานเป็นวัน ผู้ที่ได้รับยาฉีดโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เช่น สเตรปโตมัยซิน อาจจะมีเสียงในหูร่วมกับประสาทหูที่เสื่อม ในผู้สูงอายุที่มีประสาทหูเสื่อมบางท่านอาจจะมีเสียงในหูร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่เป็นโรคมีเนีย (Meniere) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคที่ประกอบไปด้วยอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน การได้ยินลดลง อาจจะมีเสียงในหูร่วมด้วยได้ ในผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 8 (Acoustic neuroma) อาจมีอาการเสียงในหูร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหินปูนเกาะที่ฐานกระดูกโกลน (Otosclerosis) อาจมีเสียงในหูร่วมกับการได้ยินที่ลดลงได้ เสียงในหูประเภทเหล่านี้อาจจะลดลงหรือหายไปได้ ถ้าหากสาเหตุของโรคได้รับการแก้ไข
- เสียงในหูที่ตรวจไม่พบสาเหตุใดๆ ผู้ที่มีเสียงในหูส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนี้และเป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด ตรวจไม่พบสาเหตุและไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นได้ในคนสุขภาพกายและจิตปรกติ
จำแนกเสียงในหูตามระยะเวลาที่เป็น
ประเภทแรก
เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งมักเป็นชั่วคราว โอกาสที่จะหายเองมีมาก เช่น เมื่อเข้าไปในที่เงียบหรือห้องเก็บเสียงจะได้ยินเสียงในหูชั่วคราวแล้วค่อยๆ หายไป
ประเภทที่สอง
ประเภทเรื้อรัง คือเป็นนานเกิน 3 เดือน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดประมาณ 80% ของผู้ที่มีเสียงในหูทั้งหมดและมักหาสาเหตุไม่พบ โอกาสหายเองมีน้อย ต้องปรึกษาแพทย์ถ้าหากเกิดความรำคาญมากจนมีอาการหงุดหงิด ขาดสมาธิในการทำงาน นอนหลับยากหรือนอนไม่หลับ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง หรือมีอาการหูไวผิดปกติต่อเสียง (Hyperscusis) บางชนิด หรือเป็นมากถึงขั้นกลัวเสียง (Phonophobia)
เสียงในหูรักษาได้
ผู้ที่มีเสียงในหูควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าเสียงในหูที่เป็นอยู่มีสาเหตุจากโรคอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่พบความผิดปรกติใดๆ ถ้าหากเสียงในหูนี้ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ นอนหลับได้ปรกติ การได้ทำความเข้าใจถึงสาเหตุของโรคจะทำให้หายกังวลได้
มีเพียง 20 % ของผู้ที่มีเสียงในหู ที่ต้องรับการรักษาอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น เกิดความวิตกกังวลว่าอาจมีโรคร้ายแรงในสมอง นอนไม่หลับ ขาดสมาธิในการทำงาน ทนต่อเสียงดังได้น้อยลง การรักษาโดยการฝึกสมองให้เปลี่ยนวิธีการตอบสนองใหม่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นวิธีที่ได้ผลมาก
ข้อควรปฏิบัติในการรักษาเสียงในหู
- ต้องรักษาสภาพร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์ ผ่อนคลาย เลิกกังวล
- สร้างความเชื่อมั่นว่าเสียงในหูนี้รักษาได้
- ศึกษาและทำความความเข้าใจกับสมมติฐานของการเกิดโรค สร้างทัศนคติที่ดีต่อ แนวทางการปฏิบัติ
- หลีกเลี่ยงความเงียบ อย่าอยู่ในที่เงียบๆ เพียงลำพัง ความเงียบทำให้เสียงในหูเด่นชัดขึ้น ต้องพยายามรับเสียงจากภายนอกเพื่อเบี่ยงเบนให้เสียงในหูด้อยลง ฝึกให้สมองรับรู้และคุ้นกับเสียงรอบข้าง จากการทดลองพบว่าเสียงธรรมชาติที่ไม่มีความหมายจะทำให้สมองเกิดความเคยชิน และเบี่ยงเบนจากเสียงในหูได้ง่าย เช่น เสียงน้ำตก เสียงคลื่น เสียงน้ำไหล เราสามารถฟังเสียงเหล่านี้ได้จากแผ่นซีดี วิทยุเทป และควรฟังอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเวลากลางคืนอาจฟังจนกระทั่งหลับไป ในผู้ที่ไม่สะดวกที่จะพกวิทยุเทป หรือซาวด์อเบาท์ไปทุกที่ การใช้เครื่องกลบเสียงในหูอาจจะช่วยให้การบำบัดได้ผลแน่นอนในเวลาที่รวดเร็วขึ้น
การป้องกันไม่ให้เกิดเสียงในหู
- หลีกเลี่ยงเสียงดัง เช่น เสียงประทัด หรือเสียงปืน เสียงในสถานบันเทิงต่างๆ หากต้องทำงานในที่ที่มีเสียงดังมาก ควรใส่ที่ป้องกันเสียง
- หลีกเลี่ยงสารพิษ มีสารพิษหลายชนิดที่จะทำให้ประสาทหูเสื่อม และมีเสียงดังในหู เช่น ยาฉีดฆ่าเชื้อสเตร็ปโตไมซิน อมิโนกลัยโคไซด์
- ป้องกันหูและศีรษะจากการบาดเจ็บ เช่น ถูกตบที่หู ไม่ควรแคะหรือปั่นหู
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจิตใจแจ่มใส ลดความเครียดและวิตกกังวล อย่าอยู่ในที่เงียบๆ คนเดียวนานฯ
- ในคนปรกติบางคนอาจมีเสียงดังในหู ชั่วครั้งชั่วคราว ราว 5-10 นาที แล้วหายไปได้ โดยเฉพาะเวลาที่อยู่ในที่เงียบ เช่น ก่อนนอน ตื่นนอนตอนเช้ามืด หรือเข้าไปในลิฟท์ ถ้าหากมีเสียงในหูนานเป็นวันหรือสัปดาห์ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์
- ผู้ที่มีเสียงในหู ร่วมกับอาการเวียนหัว บ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียน และการได้ยินลดลงควรปรึกษาแพทย์
- ผู้ที่มีเสียงในหูและได้ยินเสียงพูดไม่ชัดเจน ควรใส่เครื่องช่วยฟังเป็นประจำ เพื่อฝึกให้สมองคุ้นกับเสียงภายนอก และลืมเสียงภายในหู