APPLICATION ตรวจการได้ยิน
คลินิก เอียร์โทน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
สาระน่ารู้
เปิดตัวแอปพลิเคชันแรกในไทย EarTest by Eartone
เปิดตัวแอปพลิเคชันแรกในไทย EarTest by Eartone ตรวจการได้ยินบ่งชี้โรคสมองเสื่อมรองรับสังคมสูงวัย โดยทีมวิจัยไทย-อังกฤษ
องค์การอนามัยโลกทำการศึกษาความเสี่ยงการเกิดโรคสมองเสื่อมมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาพบว่าโดยมากผู้ที่มีปัญหาการได้ยินจะมีความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเป็น2 เท่าและพบว่าความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมนี้จะหายไปถ้าได้รับการดูแลและรักษาปัญหาด้านการได้ยินจนหายเป็นปกติจึงนับได้ว่าภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากปัญหาการได้ยินเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้อย่างไรก็ตามการตรวจการได้ยินนั้นจำเป็นต้องใช้ห้องตรวจราคาแพงและมีจำกัดเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆ
กว่าจะมาเป็นแอปพลิเคชัน EarTest by Eartone
แอปพลิเคชัน EarTest by Eartone (ฉบับภาษาไทย) ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยินโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทยร่วมกับผศ.ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์การได้ยินคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้คิดค้นวิจัยและพัฒนาแอปพลิเคชันEartest by Eartoneซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงจากปัญหาการได้ยินสามารถตรวจคัดกรองได้ด้วยตนเองที่บ้านฟรีผ่านเสียงพูดในอุปกรณ์มือถือหรือแท็บเล็ตที่เชื่อมต่อกับหูฟังเพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดปัญหาสมองเสื่อมในอนาคตได้อย่างทันท่วงที
อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร กล่าวในงานเสวนา Chula the Impact ครั้งที่ 14 ว่า “แอปพลิเคชัน EarTest by Eartone เกิดจากโครงการวิจัย Thai Speech Acoustic Virtual Reality Test for the Detection of Early Dementia ที่ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งจากประเทศอังกฤษโดยมีความร่วมมือกับราชวิทยาลัยวิศวกรรม The Royal Academy of Engineering ภายใต้ทุนTransforming System through Partnership ผ่านโครงการ Newton Fund ทำให้ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจาก University College of London (UCL) ร่วมกับผู้ร่วมทุนภาคเอกชนนอกจากนี้ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจาก British Council และกระทรวงอว. ผ่านโครงการ Thai-UK world class university consortium ที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยในอังกฤษ
จุดเริ่มต้นโครงการร่วมทุนพัฒนาต่อยอดแอปพลิเคชัน EarTest by Eartone นี้จากเทคโนโลยีเดิมผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีซึ่งการที่เราจะพัฒนาการตรวจลักษณะนี้ได้ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะต้องมีความร่วมมือกับทางต่างประเทศด้วยซึ่งทางทีมโชคดีมากที่ได้ร่วมมือกับทาง University College London โดยร่วมมือกับ Professor Stuart Rosen ผู้ที่พัฒนาการตรวจการได้ยินในภาษาต่างๆเกือบทั่วโลกโดยเริ่มจากการเก็บรวบรวมความคิดเห็นและความต้องการของผู้สูงอายุซึ่งจะเป็นผู้ใช้จริงมากกว่า 100 คน จากนั้นจึงนำมาออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด
ผศ.ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์การได้ยินคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่าเราใช้เทคนิคแบบVirtual Reality ซึ่งเป็นการจำลองห้องไร้เสียงสะท้อนสภาพเหมือนจริงของเสียงที่เข้ามาจากทิศทางต่างๆในห้องปฏิบัติการขั้นสูงเพื่อนำมาใช้ในการแปลผลของสมองด้านภาษาเพื่อวิจัยต่อไปว่าผู้รับการประเมินจะบ่งชี้เริ่มมีภาวะสมองเสื่อมหรือdementia ในอนาคตหรือไม่”
ต่อยอดต่อไปวินิจฉัยได้ทั่วประเทศ
ผู้บริหารของบริษัทเอียร์โทน เอกชนผู้ร่วมทุน ยังกล่าวเสริมอีกว่า “นอกจากเทคโนโลยีของแอปพลิเคชั่นแล้วสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือโดยทั่วไปแล้วการตรวจการได้ยินจะทำในห้องเก็บเสียงซึ่งจะต้องทำด้วยผนังเหล็กบุภายในไม่ให้เสียงเข้าไปซึ่งแต่เดิมเราจะต้องนำเข้าจากเมืองนอกซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมากด้วยการสนับสนุนจากEartoneซึ่งทำงานด้านการได้ยินมากว่า30 ปีและเป็นเอกชนผู้ร่วมทุนIndustrial partner ของโครงการได้พัฒนาตู้สำหรับตรวจการได้ยินตามมาตรฐานสากลได้รับการรับรองจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Unisearch เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศและสามารถนำไปใช้ตามโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ทั่วประเทศได้ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคอีกแล้วสำหรับหน่วยอนามัยโรงเรียนโรงพยาบาลในต่างจังหวัดให้เหมือนกับมาตรวจที่โรงพยาบาลใหญ่ๆในกรุงเทพฯได้โดยมีผลไม่ต่างกันเลย
นอกจากนี้ ทีมร่วมพัฒนาต่อยอดแอปพลิเคชันตรวจการได้ยินเบื้องต้นที่มีอยู่เดิมของเอียร์โทนให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงการทดสอบที่ละเอียดขึ้นมีประสิทธิภาพและฟังค์ชั่นที่หลากหลายร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในไทยและต่างประเทศเพื่อรองรับการใช้งานโดยผู้สูงอายุ” ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยได้พัฒนามาจนเกิดเป็นแอปพลิเคชัน Eartest by Eartone นี้นับเป็นการเตรียมพร้อมของสังคมที่จะรองรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่ขณะนี้ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติในระดับโลกมุ่งยกระดับมาตรฐานการสร้างคนสร้างผู้นำรุ่นใหม่การลงทุนในการพัฒนาการเรียนการสอนพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างผู้นำแห่งอนาคตและสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพเพื่อสังคมให้ออกไปรับใช้สังคมด้วยงานวิชาการที่มีความยั่งยืนต่อไป”
หลายภาคส่วนร่วมกันผลักดัน
ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สำหรับสวทช. เราร่วมสนับสนุนโครงการวิจัยนี้เพราะโครงการนี้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ประชาชนทั่วไปตระหนักรู้สามารถเข้ารับการวินิจฉัยในระบบอื่นๆต่อไปได้เร็วยิ่งขึ้นเพื่อช่วยให้สามารถป้องกันความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้นับเป็นการร่วมผลักดันการวิจัยพัฒนาออกแบบและวิศวกรรมให้สามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในวงกว้างเป็นการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”
รศ.ดร.สิรีชัย เสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)กล่าวทิ้งท้ายว่า “ภารกิจหลักของบพข. คือการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศโดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้เกิดงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ความร่วมมือดังที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนนับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันEarTest by Eartoneเป็นภาษาไทยให้ประชาชนชาวไทยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันในการตรวจการได้ยินได้ฟรี
ความสำเร็จครั้งนี้เป็นความสำเร็จร่วมกันระหว่างระบบการดูแลสังคมผู้สูงอายุสำหรับผู้ที่อาจเกิดภาวะสมองเสื่อมในอนาคตร่วมกับศาสตร์แห่งการวิจัยพัฒนาถ่ายทอดและเชื่อมต่อองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป”